จะเป็นอย่างไร? เมื่อร่างกายขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำคืออะไร

ร่างกายของเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 70% ดังนั้นน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานทกด้านของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของกระดูกและผิวหนัง การย่อยอาหาร การขับน้ำ และการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาท ตราบใดที่เราดื่มน้ำอย่างเพียงพอเป็นประจำทุกวัน ร่างกายของเราจะได้รับน้ำอย่างเพียงพอ เมื่อไม่มีโรค ร่างกายก็จะทำงานได้ตามปกติ แต่หากร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปริมาณน้ำที่ได้รับ ภาวะขาดน้ำก็จะเกิดขึ้น โดยอาการอาจไม่รุนแรง รุนแรงปานกลาง หรือรุนแรงมาก ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่สูญเสีย ความรุนแรงของอาการขาดน้ำแต่ละระดับจะทำให้เกิดอาการต่างกัน ตั้งแต่กระหายน้ำไปจนถึงเข้าสู่ภาวะโคม่าหรือเสียชีวิต

เราได้รับน้ำสองในสามจากน้ำที่เราดื่ม ส่วนที่เหลือได้มาจากของเหลวในอาหารและจากปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นตามปกติในร่างกาย ร่างกายของคนส่วนใหญ่จะสูญเสียน้ำประมาณสองในสามเป็นประจำทุกวัน การสูญเสียน้ำนี้เกิดจากการทำงานของร่างกายตามปกติ เช่น การหายใจ การปัสสาวะและการถ่ายอุจจาระ และการเสียเหงื่อ ปัจจัยที่อาจทำให้เราสูญเสียน้ำมากขึ้น ได้แก่ การสูญเสียเหงื่อเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนหรือมีอุณหภูมิสูง อาการท้องร่วงและการอาเจียน โรคเบาหวาน การออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการไม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอระหว่างวัน

อาการของภาวะขาดน้ำ

เมื่ออยู่ในภาวะขาดน้ำ อาการแรกที่คนส่วนใหญ่จะรู้สึกได้ก็คือ กระหายน้ำ แต่ความจริงแล้วมีอาการอย่างอื่นเกิดขึ้นก่อน เช่น เหนื่อยล้าหรือไม่มีแรง ปวดหัว และปากแห้ง หลังจากกระหายน้ำ คุณจะเริ่มหน้ามืด อ่อนแรง และปัสสาวะน้อยลงแต่ปัสสาวะมักจะเข้มข้นและมีสีเหลืองเข้มกว่าปกติ เมื่อภาวะขาดน้ำรุนแรงขึ้น อาการอื่นๆ จะเกิดตามมา เช่น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ตาลึก ไม่มีเหงื่อ และกระหายน้ำอย่างรุนแรง ความดันโลหิตอาจลดลงและมีอาการเพ้อ (สับสน) และหมดสติ คนที่มีภาวะขาดน้ำเล็กน้อยมาเป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อการเป็นนิ่ว และเหนื่อยล้าเรื้อรัง

ในเด็ก สัญญาณบ่งชี้ภาวะขาดน้ำอาจไม่ชัดเจนมากนัก แต่คุณอาจสังเกตได้จากผ้าอ้อมที่เปียกปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หงุดหงิดขึ้น หรือไม่ค่อยกระตือรือร้น ไม่ร้องไห้น้ำตาไหลเมื่อไม่พอใจ ขม่อมยุบ (จุดนิ่มๆ บนหนังศีรษะของทารก) ผิวแห้งเหี่ยว ชีพจรเต้นเร็ว และหายใจเร็วขึ้น

ใครที่เสี่ยงต่อการขาดน้ำ

  1. ทุกคนมีโอกาสอยู่ในภาวะขาดได้ทั้งนั้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้คนบางกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้
  2. นักกีฬาทั้งชายและหญิง และผู้ที่อยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่เขตร้อนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำมากกว่าคนทั่วไปหากไม่ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
  3. ร่างกายของคนสูงอายุจะกักเก็บน้ำได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้น ความรู้สึกกระหายน้ำจะน้อยลง ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้มากกว่า และจะเสี่ยงมากขึ้นหากคนกลุ่มนี้เจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ
  4. โรคร้ายแรงบางโรคทำให้คนเราเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำมากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายของคุณจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีเหงื่อออก และรู้สึกไม่อยากดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร
  5. อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคไต ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน
  6. เด็กเล็กและทารกเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำมากกว่าผู้ใหญ่เพราะน้ำหนักตัวน้อย

ป้องกันภาวะขาดน้ำได้อย่างไร

การป้องกันภาวะขาดน้ำทำได้ง่ายมากและอาศัยแค่การดื่มน้ำอย่างเพียงพอเท่านั้น หน่วยงานด้านสุขภาพส่วนใหญ่แนะนำให้คนเราดื่มน้ำหกถึงแปดแก้วต่อวัน (ประมาณสองลิตร) หากคุณอาศัยอยู่ในเขตร้อนหรือออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง คุณควรดื่มน้ำมากกว่านี้ กฎเหล็กก็คือ ควรดื่มน้ำมากขึ้นหนึ่งลิตรต่อการออกกำลังกายทุกๆ ชั่วโมง ปัสสาวะของคุณจะต้องมีเหลืองอ่อน เพราะยิ่งปัสสาวะของคุณมีสีเข้มมากเท่าไหร่ แสดงว่าคุณขาดน้ำมากเท่านั้น

การรักษาภาวะขาดน้ำแบบไม่รุนแรง

ภาวะขาดน้ำแบบไม่รุนแรงรักษาได้ง่ายๆ โดยการดื่มเกลือแร่หรือดื่มน้ำและของเหลวอย่างน้ำหวานเจือจาง น้ำผลไม้เจือจาง หรือนมพร่องมันเนย เป็นต้น น้ำหวานๆ จะช่วยทดแทนน้ำตาลที่คุณสูญเสียไปได้ ถ้าจำเป็น คุณสามารถหาซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ได้จากเภสัชกร

หากเด็กและทารกอยู่ในภาวะขาดน้ำ ไม่ควรให้น้ำเป็นหลักเพราะจะทำให้แร่ธาตุในร่างกายเจือจางลงไปอีกและทำให้อาการแย่ลง แต่ควรให้น้ำหวานเจือจาง น้ำผลไม้เจือจาง หรือน้ำเกลือแร่แทน หากคุณหรือลูกไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ในร่างกายได้ เช่น อาเจียนหรือท้องร่วง ให้ค่อยๆ ดื่ม แต่ดื่มบ่อยๆ ถ้าจำเป็น ควรใช้ช้อนหรือเข็มฉีดยาป้อนของเหลวให้เด็กทีละน้อย

การรักษาภาวะขาดน้ำรุนแรง

ในกรณีที่ขาดน้ำอย่างรุนแรง ควรไปโรงพยาบาลเพื่อรับสารน้ำทางหลอดเลือดดํา หากคุณสงสัยว่าใครมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ทารก และผู้สูงวัยที่มักจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนหากอยู่ในภาวะขาดน้ำ

ที่มา : http://www.th.boots.com/th/dehydration